ภาคเหนือของ สปป.ลาว…..อีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจลงทุน

ภาคเหนือของ สปป.ลาว ซึ่งประกอบด้วยแขวงสำคัญ ได้แก่ แขวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง แขวงอุดมไซย
แขวงหลวงน้ำทา แขวงบ่อแก้ว แขวงไซยบุรี แขวงพงสาลี แขวงหัวพัน และแขวงเซียงขวาง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรองรับ
การลงทุนจากต่างประเทศในหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจเกี่ยวกับลอจิสติกส์ (อาทิ ธุรกิจขนส่ง คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า)
ธุรกิจการเกษตร (อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร และการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งในลักษณะการขอสัมปทานที่ดินเพื่อ
เพาะปลูกเองและการทำ Contract Farming) ธุรกิจเหมืองแร่ (อาทิ เหมืองทองแดง และเหมืองถ่านหิน) และธุรกิจท่องเที่ยว
(อาทิ โรงแรม)

สำหรับปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนต่อการเข้าไปลงทุนในภาคเหนือของ สปป.ลาว มีดังนี้
• รัฐบาล สปป.ลาว มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเฉพาะ
การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของ สปป.ลาว (Department for the Promotion
and Management of Domestic and Foreign Investment : DDFI) กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานใน สปป.ลาว
รวมทั้งพื้นที่ทางเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ยังขาดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น
เวลา 7 ปี หลังจากนั้นจึงเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 เทียบกับอัตราปกติร้อยละ 35 ทั้งนี้ นักลงทุนที่สนใจเข้าไป
ลงทุนในพื้นที่ทางเหนือของ สปป.ลาว ต้องยื่นคำร้องขออนุญาตลงทุนพร้อมกับเอกสารการลงทุนและบทวิพากษ์เศรษฐกิจ
(แสดงผลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน รวมทั้งแผนธุรกิจโดยละเอียด) ต่อผู้ปกครองของแขวงที่ต้องการลงทุน
(ส่วนใหญ่ผู้ปกครองแขวงมีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนวงเงินไม่เกิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นแขวงหลวงพระบางซึ่งเป็น
หนึ่งในสี่แขวงใหญ่นอกเหนือจากแขวงจำปาสัก แขวงสะหวันนะเขต และนครเวียงจันทน์ที่ผู้ปกครองแขวงมีอำนาจอนุมัติ
โครงการลงทุนวงเงินสูงถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือยื่นขออนุญาตลงทุนกับ DDFI ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นครเวียงจันทน์
หากโครงการลงทุนมีมูลค่าเกินอำนาจอนุมัติของผู้ปกครองแขวง
• การคมนาคมขนส่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขนส่งทางบก อาทิ เส้นทาง R3E∗ เชื่อม
ระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เริ่มต้นจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตัดผ่านแขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงน้ำทา
ก่อนเข้าสู่ประเทศจีนที่ด่านบ่อหาน จากนั้นจึงมุ่งหน้าขึ้นไปยังเมืองเชียงรุ่ง รวมระยะทางราว 450 กิโลเมตร (ปัจจุบัน
เส้นทาง R3E ในเขตแดนของ สปป.ลาว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2550 ขณะที่การก่อสร้างถนน
ในเขตแดนจีนคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในราวกลางปี 2549) เส้นทางหมายเลข 2 เริ่มต้นจากด่านห้วยโก๋นใน
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เข้าสู่ สปป.ลาว ที่เมืองเงิน ในแขวงไซยบุรี ตัดผ่านเมืองปากแบ่งและเมืองไซยใน
แขวงอุดมไซย รวมระยะทาง 185 กิโลเมตร (ปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาและผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีสิทธิ์
ยื่นประมูลงานก่อสร้างถนน) เส้นทางหมายเลข 4 เชื่อมต่อจากเส้นทางหมายเลข 2 ที่เมืองไซย แขวงอุดมไซย ผ่าน
แขวงพงสาลี ก่อนเชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 6 ของเวียดนามที่จังหวัด Dein Bien Phu รวมระยะทาง 235 กิโลเมตร

∗ อ้างอิงชื่อตามธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ใช้ชื่อว่า “เส้นทาง R3A” ส่วนที่ระบุในแผนที่สากล
ใช้ชื่อว่า “เส้นทาง A3E”

-2-
และเส้นทางหมายเลข 13 เชื่อมต่อพื้นที่ทางเหนือและทางใต้ของ สปป.ลาว เริ่มต้นจากแขวงหลวงน้ำทา ผ่านแขวงอุดมไซย
แขวงหลวงพระบาง แขวงเวียงจันทน์ และนครเวียงจันทน์ ก่อนทอดยาวลงใต้ รวมระยะทางทั้งสิ้นราว 1,400 กิโลเมตร ทั้งนี้
เป็นที่คาดว่าเส้นทางดังกล่าวจะช่วยรองรับการขยายตัวของการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างพื้นที่ทางเหนือของ
สปป.ลาว กับจีน ไทย และเวียดนาม ตลอดจนแขวงอื่น ๆ ในพื้นที่ทางใต้ของ สปป.ลาว ได้เป็นอย่างดีในระยะข้างหน้า
• ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง เนื่องจากภาคเหนือของ สปป.ลาว มีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศ ทั้งจีน ไทย
พม่า และเวียดนาม ทำให้เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ ภาคเหนือ
ของ สปป.ลาว ยังมีเส้นทางออกสู่ทะเลและเชื่อมโยงกับตลาดโลก โดยเริ่มต้นจากชายแดนแขวงพงสาลีของ สปป.ลาว
ก่อนอาศัยเส้นทางหมายเลข 6 ของเวียดนาม เพื่อมุ่งเข้าสู่จังหวัด Dien Bien Phu เชื่อมต่อไปยังจังหวัด Son La เข้าสู่กรุงฮานอย
และใช้เส้นทางหมายเลข 5 มุ่งหน้าต่อไปยังจังหวัด Hai Phong ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือ Hai Phong ท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่สุด
ในภาคเหนือของเวียดนาม
• พื้นที่ทางเหนือของ สปป.ลาว มีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ
อาทิ ถ่านหิน ทองแดง และทองคำ รวมทั้งทรัพยากรป่าไม้และของป่า ตลอดจนวัตถุดิบทางการเกษตร สำหรับรายละเอียด
เกี่ยวกับความสามารถในการเพาะปลูกพืชของแขวงต่าง ๆ ในภาคเหนือของ สปป.ลาว ที่สำคัญ มีดังนี้
แขวง ความสามารถในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ
แขวงหลวงน้ำทา อ้อย : แขวงหลวงน้ำทาเป็นแหล่งเพาะปลูกอ้อยสำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาว ด้วยพื้นที่เพาะปลูกราว 1,450 เฮกตาร์
(1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่) มีปริมาณผลผลิต 68,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งหมด
ของประเทศ
แขวงไซยะบุรี ข้าวไร่ : แขวงไซยะบุรีเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวไร่ (ข้าวที่เพาะปลูกในบริเวณเชิงเขา) สำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาว
ด้วยพื้นที่เพาะปลูกราว 18,500 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิต 35,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณ
ผลผลิตข้าวไร่ทั้งหมดของประเทศ
ข้าวโพด : นอกจากข้าวไร่แล้ว แขวงไซยะบุรียังเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดสำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาว ด้วยพื้นที่
เพาะปลูกราว 17,300 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิต 51,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณผลผลิต
ข้าวโพดทั้งหมดของประเทศ
ถั่วลิสง : แขวงไซยะบุรีเป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วลิสงสำคัญอันดับ 2 ของ สปป.ลาว รองจากแขวงสาละวัน ด้วยพื้นที่เพาะปลูก
ราว 2,300 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิต 2,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณผลผลิตถั่วลิสงทั้งหมดของประเทศ
แขวงหัวพัน ถั่วเหลือง : แขวงหัวพันเป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองสำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาว ด้วยพื้นที่เพาะปลูกราว 1,800 เฮกตาร์
มีปริมาณผลผลิต 1,500 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองทั้งหมดของประเทศ
แขวงอุดมไซย ข้าวโพด : แขวงอุดมไซยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดสำคัญอันดับ 2 ของ สปป.ลาว รองจากแขวงไซยะบุรี ด้วยพื้นที่
เพาะปลูกราว 9,000 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิต 31,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณผลผลิตข้าวโพด
ทั้งหมดของประเทศ
ข้าวไร่ : แขวงอุดมไซยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวไร่สำคัญอันดับ 3 ของ สปป.ลาว ด้วยพื้นที่เพาะปลูกราว 18,200 เฮกตาร์
มีปริมาณผลผลิต 30,700 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณผลผลิตข้าวไร่ทั้งหมดของประเทศ
-3-
แขวง ความสามารถในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ
แขวงหลวงพระบาง ถั่วเหลือง : แขวงหลวงพระบางเป็นแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลืองสำคัญอันดับ 2 ของ สปป.ลาว รองจากแขวงหัวพัน
ด้วยพื้นที่เพาะปลูกราว 1,300 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิต 1,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณผลผลิต
ถั่วเหลืองทั้งหมดของประเทศ
ข้าวไร่ : แขวงหลวงพระบางเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวไร่สำคัญอันดับ 2 ของ สปป.ลาว รองจากแขวงไซยะบุรี ด้วย
พื้นที่เพาะปลูกราว 19,400 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิต 31,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณผลผลิต
ข้าวไร่ทั้งหมดของประเทศ
แขวงพงสาลี ชา : แขวงพงสาลีเป็นแหล่งเพาะปลูกชาสำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาว ด้วยพื้นที่เพาะปลูกราว 510 เฮกตาร์ มี
ปริมาณผลผลิต 200 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณผลผลิตชาทั้งหมดของประเทศ
เผือก และมันทุกชนิด : นอกจากชาแล้ว แขวงพงสาลียังเป็นแหล่งเพาะปลูกเผือก และมันทุกชนิดสำคัญอันดับ 1
ของ สปป.ลาว ด้วยพื้นที่เพาะปลูกราว 4,800 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิต 35,000 ตัน ในปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 20
ของปริมาณผลผลิตเผือกและมันทั้งหมดของประเทศ
• ความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะวัด และโบราณสถาน รวมทั้ง
วิถีชีวิตของชนเผ่าต่าง ๆ อาทิ ม้ง ขมุ และไทยเหนือ ตลอดจนการมีธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และภูมิทัศน์สวยงาม
ด้วยเทือกเขาสูงปกคลุมด้วยป่าไม้นานาพันธุ์คล้ายคลึงกับภาคเหนือของไทย นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยว
ต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ทางเหนือของ สปป.ลาว และเป็นที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอีกมาก
เมื่อการพัฒนาเส้นทางคมนาคมสายต่าง ๆ แล้วเสร็จ จึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

EXPORT-IMPORT BANK OF THAILAND
ส่วนวิเคราะห์ธุรกิจ ฝ่ายวิชาการ
เมษายน 2549__

ต้องการ สอบถาม เกี่ยวกับ

บริการให้คำปรึกษา VIP (กรุ๊ปละไม่เกิน 4 คน) คลิ้ก ที่นี่





No comments:

Post a Comment