"หากไทยไม่เข้าไปศึกษาและลงทุนธุรกิจอย่างจริงจังในลาว ในช่วง 1-2 ปีนี้ เราก็จะไม่มีโอกาสอีกต่อไป"

ทำไมลาวน่าสนใจสำหรับธุรกิจไทย

"หากไทยไม่เข้าไปศึกษาและลงทุนธุรกิจอย่างจริงจังในลาว ในช่วง 1-2 ปีนี้ เราก็จะไม่มีโอกาสอีกต่อไป เพราะว่าจีนกับเวียดนามตอนนี้กำลังรุกอย่างเต็มที่" เป็นคำกล่าวอย่างจริงจังของ ประเสริฐ วงศ์มาลาสิทธิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดนครพนม และเลขาธิการ สภาธุรกิจไทย-ลาว 

ในช่วงปี 2551-2552 การลงทุนธุรกิจการค้าในลาวกำลังอยู่ในจังหวะที่เรียกว่า "สุกงอม" เพราะผู้นำของลาวมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน รับการลงทุนการค้าจากชาวต่างชาติ เพื่อพัฒนาให้หลุดพ้นจากความยากจน และลาวได้เข้าร่วมสู่เวทีการค้าระดับพหุพาคีต่างๆ ที่มีกลไกรองรับพร้อมกับมีการปฏิรูปกฎหมายการค้าการลงทุนให้มีความทันสมัยขึ้น 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลาวพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความเจริญ เป็นเพราะกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Makong Subregion: GMS) และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayerawady-ChaoPhraya-Mekong Economic Strategy: ACMECS) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลาวต้องเร่งพัฒนาให้ทัน 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางหมายเลข R3 จากไทย (จังหวัดเชียงราย) ไปเชื่อมโยงไปลาวตอนเหนือ และไปยังจีนตอนใต้และเส้นทางหมายเลข 9 (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยง พม่า-ไทย (จังหวัดตากและมุกดาหาร) ไปลาวตอนกลาง เชื่อมโยงประเทศเวียดนาม ทำให้ลาวเชื่อมโยงไปสู่ประเทศรอบด้านอยู่ท่ามกลางประเทศเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ทางเหนือของลาวเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชากร 1,300 กว่าล้านคน ตะวันตกเป็นประเทศไทย ประชากรกว่า 70 ล้านคน ตะวันออกเป็นเวียดนาม ประชากร 83 ล้านคน และตอนใต้กัมพูชา ประชากร 12 ล้านคน ส่วนประชากรลาว 5.6 ล้านคน 

ทำให้ลาวมีตลาดขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรอยตะเข็บบริเวณชายแดน มีประชากรอาศัยไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน ดังนั้น ลาวจึงเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจาก Land Lock ไปสู่ Land Link จากดินแดนที่ไม่สามารถออกสู่ทะเล ปัจจุบันลาวมีเส้นทางออกทะเล 2 ด้าน ท่าเรือแหลมฉบังของไทย และท่าเรือดานังของเวียดนาม โดยเส้นทางของไทยจะผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต 

วิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บอกว่า ไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่ติดกับลาว ทำให้เกิดความเป็นต่อ ดังนั้นควรดึงกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ 

กลไกที่มีอยู่ของไทย คือ การมีสภาธุรกิจไทย-ลาว ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนไทยและลาว ที่ก่อตั้งขึ้นจากภาครัฐและเอกชน แนะนำกฎระเบียบการลงทุนในลาว รวมถึง วิถีความคิด วัฒนธรรม ถึงแม้ว่าจะมีความใกล้เคียงเรื่องภาษาและวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีความแตกต่างที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะความซื่อตรงของนักธุรกิจที่เข้าไปลงทุน 

ส่วนกฎหมายการค้าการลงทุนที่กำลังปรับปรุงของลาว เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาอย่างละเอียด 

ธนาคารไทยที่เข้าไปเปิดให้บริการ 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยผู้ประกอบการที่เลือกลงทุนในลาว 

กลไกล่าสุด การที่สปป.ลาวได้ร่วมเซ็นบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู (MOU-Memorandum of Understanding) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้คำปรึกษาและพัฒนาบุคลากร ในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในลาวภายใน 2 ปีนี้ ที่จะก่อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในลาวในอนาคต ในการสร้างตลาดทุนเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 3 เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยเช่นกัน เพราะสะพานแห่งนี้จะเชื่อมโยงระหว่างชุมชนบ้านห้อม จังหวัดนครพนม ประเทศไทย และชุมชนบ้านเวินใต้ สปป.ลาว เริ่มก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2551 ใช้เวลาดำเนินการ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง มีระยะทาง 780 เมตร จะช่วยทำให้ธุรกิจคึกคัก รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้แก่ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ 

"ไทยมีความได้เปรียบที่มีภูมิศาสตร์ ศาสนา สังคม แต่เปรียบเหมือนดาบสองคม และคิดว่าเป็นของตาย เราต้องรู้เขารู้เรา" วิบูลย์อธิบายหลังจากที่เข้าไปอยู่ในลาว 16 เดือนที่ผ่านมา 

หุมเพ็ง สุลาไล Director General Investment Promotion Department the Lao PDR บอกว่า สปป.ลาว ได้เปิดประตูให้ต่างประเทศเข้าไปลงทุนในลาวเริ่มตั้งแต่ปี 2529 เริ่มปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการลงทุน 

จุดเด่นของลาว มีความเป็นธรรมชาติ มีแม่น้ำโขง สามารถสร้างเขื่อน สร้างพลังงานไฟฟ้า มีเหมืองแร่เป็นสินค้าส่งออกและมีการท่องเที่ยวที่เน้นในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติ 

แต่ธุรกิจประเภทในรูปแบบผู้ประกอบการของลาว ปัจจุบันมีค่อนข้างจำกัด เป็นธุรกิจที่ต้องการคำแนะนำและความรู้เทคโนโลยี 

ธุรกิจที่ลาวส่งเสริมให้มีการลงทุนในปัจจุบันมี 7 ประเภท คือ พลังงาน, เหมืองแร่, ธุรกิจเกษตร, ท่องเที่ยว, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรมเบา และบริการ 

การลงทุนแบ่งออกไปตามเขตพื้นที่ 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นเขตทุรกันดาร การเดินทางคมนาคมไม่สะดวก เป็นพื้นที่ได้รับยกเว้นภาษี 7 ปี ส่วนที่ 2 เป็นเขตระหว่างเมืองและชนบท ได้รับยกเว้นภาษี 5 ปี ส่วนเขตที่ 3 เมืองใหญ่ เช่น หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ได้รับยกเว้นภาษี 2 ปี 

เขตที่ 1 เป็นเขตที่มีพื้นที่มากที่สุดในลาว และครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ 

การเลือกลงทุนในลาวนอกจากเรียนรู้เรื่องของธุรกิจแล้ว การเรียนรู้วัฒนธรรมและอุปนิสัยคนลาว กลายเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีผลต่อการทำธุรกิจในลาว 

"นิสัยคนลาว เป็นคนรักสงบ รักแท้" หุมเพ็งกล่าว ซึ่งเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำ สปป.ลาว ที่มีประสบการณ์ ทำงานมาเป็นระยะ 4 ปี ก็บอกว่า "ลาวเป็นประเทศที่น่าอยู่และผู้คนน่ารัก" 

เฉลิมพลบอกว่า ลาวในปัจจุบันเศรษฐกิจดีวันดีคืน มีกฎหมายส่งเสริมการลงทุน การเมืองมีเสถียรภาพ และที่สำคัญ อยู่ระหว่างการขอยื่นเป็นสมาชิก WTO 

นอกจากการเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนที่ลาวต้องตั้งรับแล้ว ลาวยังพัฒนาแผนแนวรุกของประเทศเช่นเดียวกัน เช่น โครงการจัดตั้งตลาดค้าส่งและศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) การยกระดับฐานะด่านพรมแดน เป็นช่องทางให้สามารถซื้อขายกันได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น 

ความได้เปรียบของลาว คือ พลังงานไฟฟ้า และลาวเปรียบเหมือน "แบตเตอรี่เอเชีย" เพราะมีเขื่อนถึง 70 แห่งที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้และจำหน่ายในอีก 5 ปีข้างหน้า และไทยจะกลายเป็นลูกค้าและซื้อไฟจากลาวไปใช้เช่นเดียวกัน และเมื่อถึงตอนนั้นเฉลิมพลคาดว่าลาวจะทำธุรกิจเกินดุลไทยอย่างแน่นอน จากปัจจุบันที่ไทยทำธุรกิจเกินดุลลาวมาหลายสิบปี 

จากการเปิดกว้างการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต่างประเทศจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในลาว เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และจีน 

เวียดนามและจีนกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทยในการลงทุนในลาว โดยเฉพาะจีนที่ได้รับสัมปทานพัฒนาเมืองใหม่ของเวียงจันทน์ บนเนื้อที่ 60,000 ไร่ มีอายุสัมปทาน 50 ปี ในขณะที่เวียดนามเริ่มนำต้นกล้ายางไปปลูกที่ลาวเป็นจำนวนมาก รวมถึงจีนและเวียดนามนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการขุดเจาะเหมืองแร่ที่เป็นทรัพยากรของลาว ทำให้ลาวมองจีนและเวียดนามว่าเป็นประเทศเพื่อนมิตร ส่วนไทยเป็นประเทศเพื่อนใกล้เรือนเคียง 

อาจเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งลาวได้รับทุนการศึกษาจากจีน เวียดนาม และรัสเซีย ไปเรียนหนังสือครั้งละจำนวนมาก ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านภาษา หรือมีการแต่งงานกันเกิดขึ้น ทำให้บุตรหลานที่กลับมาเริ่มเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง จึงตอบแทนที่ช่วยเหลือสนับสนุนด้านเงินทุน 

แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่ลงทุนในลาวมากที่สุดในภูมิภาคนี้ มีมูลค่า 57,583.3 ล้านบาท ปี 2549 ก็ตาม แต่จีนและเวียดนามกำลังรุกเข้าธุรกิจลาวอย่างเต็มที่ ชนิดที่เรียกว่า หายใจรดต้นคอ และมีโอกาสแซงในไม่ช้า หากไทยไม่มีแผนธุรกิจใน 1-2 ปีนี้   

ที่มา : http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=71815

No comments:

Post a Comment